หนังสือพระราชนิพนธ์
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี



พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2541
ประเทศ จีน
กลับไปหน้าที่แล้ว

คืนถิ่นจีนใหญ่


     พระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๔๑ ในชุดเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ และเป็นครั้งที่ ๘ ของการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ทรงบันทึกไว้เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนและฮ่องกง ระหว่างวันที่ ๒๕ มิถุนายน – ๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๔๐ นอกจากจะเสด็จฯ เยือนสถานที่สำคัญต่างๆ ในมณฑลกวางตุ้งแล้ว ยังเสด็จฯ ไปทรงร่วมพิธีส่งมอบฮ่องกงคืนแก่จีน เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๔๐ อันถือเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของโลกด้วย

     วันที่ ๑ (วันพุธที่ ๒๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๔๐)
     เสด็จฯ ถึงท่าอากาศยานนครซานโถว เสด็จฯ ไปยังโรงแรม Golden Gulf นายโจวรื่อฟาง นายกเทศมนตรีนครซานโถวจัดพระกระยาหารค่ำถวาย ณ โรงแรมดังกล่าว นครซานโถวหรือซัวเถาได้รับการจัดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษใน ค.ศ. ๑๙๘๒ แม้จะยังมีการลงทุนน้อยกว่าที่เสิ่นเจิ้นและจูไห่ แต่เศรษฐกิจขยายตัวสูงมากในทศวรรษ ๑๙๙๐ มีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการลงทุน รายได้สำคัญมาจากการค้า สินค้าออกได้แก่ เคมีภัณฑ์ เครื่องไฟฟ้า เครื่องจักรกล เวชภัณฑ์ การฝีมือ (เย็บปักถักร้อย เครื่องเซรามิก แกะสลักหิน และแกะสลักไม้) อุตสาหกรรมอาหาร ทั้งยังเป็นเขตเกษตรกรรมที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นแหล่งผลิตข้าว นอกจากนี้ยังมีความสำคัญด้านศิลปวัฒนธรรม ที่มีชื่อเสียงมากคืองิ้วแต้จิ๋ว รวมทั้งวัฒนธรรมอาหาร

     วันที่ ๒ (วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๔๐)
     เสด็จฯ ไปยังสุสานฝังฉลองพระองค์และพระมาลาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่หมู่บ้านหัวฝู่ อำเภอเฉิงไห่ เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรบ้านต้นตระกูลหวั่งหลี ที่หมู่บ้านเฉียนเหมย ตำบลหลงตู อำเภอเฉิงไห่ ต่อจากนั้น เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรท่าเรือโบราณจางหลิง และศาลบรรพบุรุษตระกูลเฉิน นายกเทศมนตรีเมืองเท่งไฮ้ จัดพระกระหารกลางวันถวาย ณ โรงแรม Shantou International หลังจากนั้น เสด็จฯ ไปท่าเรือซัวเถา และเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรมหาวิทยาลัยซัวเถา

     วันที่ ๓ (วันศุกร์ที่ ๒๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๔๐)
     เสด็จฯ ไปยังเมืองเฉาโจว (แต้จิ๋ว) ซึ่ง “…เป็นเมืองเก่าแก่ ตั้งขึ้นเมื่อประมาณศตวรรษที่ ๓ เป็นเขตห่างไกลล้าหลัง ต่อมาในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๕ ตรงกับปลายราชวงศ์จิ้นตะวันออก (ค.ศ.๓๑๗–๔๒๐) ได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นศูนย์กลางปกครองแห่งหนึ่งในดินแดนตะวันออกเฉียงใต้ และมาเจริญรุ่งเรืองมากในราชวงศ์ถัง (ค.ศ.๖๑๘–๙๐๗) … เมืองแต้จิ๋วเป็นถิ่นฐานเดิมของชาวจีนอพยพแต้จิ๋วที่กระจายไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอีกหลายประเทศ ชาวจีนแต้จิ๋วเดินทางสู่โพ้นทะเลด้วยเรือสำเภอหัวแดงผ่านจางหลินหรือซัวเถา ขึ้นอยู่กับว่าอพยพออกมาในช่วงเวลาใด…พื้นที่เมืองเฉาโจวและนครซัวเถาที่มีชาวจีนแต้จิ๋วอาศัยอยู่มากนั้น เรียกรวมๆ กันว่า เฉาซาน ใน ค.ศ.๑๙๘๖ รัฐบาลจีนได้ประกาศให้เมืองเฉาโจวเป็นเมืองประวัติศาสตร์…”
     เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรวัดไคหยวนไทย ศาลเจ้าหันเหวินคง และวัดไคหยวน รองนายกเทศมนตรีเมืองเฉาโจว จัดพระกระหารกลางวันถวาย ณ โรงแรมจินม่าน ต่อจากนั้น ประทับเครื่องบินพระที่นั่งเสด็จฯ ไปยังนครกวางโจว เสด็จฯ ไปยังมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศและการค้าต่างประเทศกวางโจว รองผู้ว่าราชการมณฑลกวางโจว จัดพระกระยาหารค่ำถวาย ณ โรงแรม White Swan

     วันที่ ๔ (วันเสาร์ที่ ๒๘ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๔๐)
     เสด็จฯ ไปยังพิพิธภัณฑสถานสุสานหนานเยว่ พิพิธภัณฑ์กวางโจว อนุสาวรีย์ ๕ แพะ พิพิธภัณฑ์ศิลปะพื้นเมืองกวางตุ้ง (บ้านตระกูลเฉิน) ศาลเจ้าจู่เมี่ยว เมืองโฝซาน ศูนย์ศิลปหัตถกรรมพื้นเมืองโฝซาน และสำนักงานชลประทานลุ่มแม่น้ำจูเจียง พระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายจีน ณ ภัตตาคารผันซี

     วันที่ ๕ (วันอาทิตย์ที่ ๒๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๔๐)
     เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์สงครามฝิ่น หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าอนุสรณ์สถานหลินเจ๋อสู ตั้งอยู่ที่ตำบลหู่เหมิน เมืองตงก่วน ซึ่งเป็นเมืองโบราณ มีอายุประมาณ ๑,๗๐๐ ปี มีประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่สมัยสามก๊ก ประชาชนมีรายได้สูง เมืองพัฒนาอย่างรวดเร็วตั้งแต่ประเทศจีนใช้นโยบายเปิดประเทศ ต่อจากนั้น เสด็จฯ ไปป้อมปืนเวยหย่วน เสด็จฯ ไปเขตเศรษฐกิจพิเศษเสิ่นเจิ้น รองประธานสภาผู้แทนประชาชนเมืองเสิ่นเจิ้น จัดพระกระยาหารกลางวันถวาย ณ โรงแรมแชงกริลา เสิ่นเจิ้นเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกของจีน ห่างจากฮ่องกงเพียงแม่น้ำเสิ่นเจิ้นกั้น พื้นที่ ๒,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร มีโครงสร้างพื้นฐานดี ค่าแรงถูก การขนส่งสะดวกรวดเร็ว การลงทุนจากต่างประเทศ และปริมาณสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
     หลังจากนั้น เสด็จฯ ไปยังศูนย์แสดงสินค้าอุตสาหกรรมเมืองเสิ่นเจิ้น และด่านหวงกัง เมืองเสิ่นเจิ้น ทรงเปลี่ยนรถยนต์พระที่นั่ง และเสด็จฯ ต่อไปยังฮ่องกง ประทับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งทอดพระเนตรทัศนียภาพฮ่องกง เสด็จฯ ไปยังพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ฮ่องกง ซึ่งเป็นสถานที่รวบรวม ศึกษา รวมทั้งแสดงวัสดุโบราณ และวัตถุที่แสดงถึงวัฒนธรรม โบราณคดี ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์วิทยาของเกาะฮ่องกง และบริเวณจีนใต้ นักโบราณคดีพบว่ามีการตั้งถิ่นฐานครั้งแรกของมนุษย์บนเกาะฮ่องกงประมาณ ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงสภาพของเกาะฮ่องกงนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เสวยพระกระยาหารค่ำบนเรือพระที่นั่งบริตาเนีย และทอดพระเนตรการแสดงของวงโยธวาทิต นาวิกโยธินอังกฤษ

     วันที่ ๖ (วันจันทร์ที่ ๓๐ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๔๐)
     เสด็จฯ ไปยังถนน Tai Tam Reservoir เพื่อทรงพระดำเนินตามเส้นทางเดินทางไกลวิลสัน ส่วนที่ ๒ “เส้นทางวิลสันนี้เป็นเส้นทางเดินเขาที่ลอร์ดเดวิด วิลสัน แห่งทิลยอร์น อดีตผู้ว่าราชการฮ่องกง เป็นผู้ริเริ่ม ท่านผู้นี้ชอบการปีนเขาและเดินทางไกลมาก…เส้นทางวิลสันนั้นเชื่อมเส้นทางเดินและอุทยานแห่งชาติเป็นแนวเหนือใต้…ความยาวตลอดเส้นทาง ๗๘ กิโลเมตร ส่วนเส้นทางแมคเลโฮส เป็นเส้นทางเดินทางไกลเส้นแรกของฮ่องกง…ยาวกว่า ๑๐๐ กิโลเมตร…”
     เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรกิจการของ The Princess Alexandra Red Cross Residential School กาชาดฮ่องกง หลังจากนั้น เสด็จฯ กลับที่ประทับ เสวยพระกระยาหารกลางวัน และพระราชทานพระราชวโรกาสให้ศาสตราจารย์ Wang Gang Wu และนาย Louis Cha (กิมย้ง) เฝ้าฯ ตามลำดับ ต่อจากนั้น เสด็จฯ ไปทรงร่วมพิธี Farewell Ceremony ที่ East Tamer และพิธีส่งมอบฮ่องกง ณ อาคาร Hong Kong Convention and Exhibition Centre Extension

     วันที่ ๗ (วันอังคารที่ ๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๔๐)
     เวลา ๐๐.๑๕ น. ของวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๙ ทรงร่วมในพิธีประกาศตั้งคณะผู้บริหารเขตบริหารพิเศษฮ่องกง และการสาบานตนเข้าดำรงตำแหน่ง ซึ่งมีชื่อพิธีเป็นภาษาอังกฤษว่า The Ceremony for the Establishment of the Hong Kong Special Administrative Region of the People’s Republic of China and the Inauguration of the Government of the Hong Kong Special Administrative Region ในเวลา ๐๘.๓๐ น.เสด็จฯ ไปทรงร่วมพิธีเฉลิมฉลองการก่อตั้งเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ณ Hong Kong Convention and Exhibition Centre Extension       ช่วงบ่าย เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรตึกเซ็นทรัลพลาซา ซึ่งเป็นอาคารสำนักงานทันสมัย อยู่ใจกลางย่านธุรกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งของฮ่องกง มีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและเครือข่ายโทรคมนาคมที่ทันสมัย หลังจากนั้น เสด็จฯ ไปทรงร่วมงานเลี้ยงรับรอง เนื่องในโอกาสก่อตั้งเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ตอนค่ำ เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรดอกไม้ไฟที่ตึก Far East Finance Centre

     วันที่ ๘ (วันพุธที่ ๒ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๔๐)
     เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรสะพานแขวน ท้องฟ้าจำลอง และยอดเขาวิกตอเรีย (Victoria Peak)

     วันที่ ๙ (วันพฤหัสบดีที่ ๓ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๔๐)
     ประทับเรือยนต์พระที่นั่งไปยังมาเก๊า หรือที่ภาษาจีนเรียกว่า โอวเหมิน ซึ่งเป็นเกาะอยู่ติดแผ่นดินใหญ่ ทอดพระเนตรป้อมกีอา (Guia Fort) หรือมีชื่อเต็มว่า The Fortess of Our Lady of Guia คำว่า “กีอา” นี้ภาษาโปรตุเกสแปลว่า การนำ หรือการเดินเรือ นายทหารโปรตุเกสเป็นผู้สร้างในปี ค.ศ.๑๖๓๗–๑๖๓๘ บนจุดที่สูงที่สุดของมาเก๊า เพื่อป้องกันชายแดนด้านที่ติดกับจีน และทอดพระเนตรซากโบสถ์เซ็นต์ปอล (Basilica of Sao Paulo) โบสถ์นี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า The Church of the Mother of God (Mater Dei) ผู้ก่อสร้างเป็นชาวญี่ปุ่นที่นับถือศาสนาคริสต์ผู้หนีมาจากเมืองนางาซากิ สร้างในช่วง ค.ศ.๑๖๐๒–๑๖๓๗ ถือเป็นศูนย์กลางของศาสนาโรมันคาทอลิกทางตะวันออกไกล ต่อจากนั้น เสด็จฯ ไปยังศาลาเทศบาล ทรงพบนายกเทศมนตรี และทอดพระเนตรห้องสมุด เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์ทางทะเล (Macao Maritime Museum) ซึ่งแสดงวัฒนธรรมโปรตุเกสและจีน ศาลเจ้าเจ้าแม่อาม่า ทินเฮ่า หรือหมาจู่ ซึ่งเป็นเทพลัทธิเต๋าผู้คุ้มครองคนเดินเรือ ต่อจากนั้น ผู้ว่าราชการมาเก๊าจัดพระกระยาหารกลางวันถวาย ณ ทำเนียบผู้ว่าราชการ
     เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรบ้านเกิดของประธานาธิบดีซุนยัดเซ็น (ค.ศ.๑๘๖๖–๑๙๒๕) หรือซุนอี้เซียนในภาษาจีนกลาง หรือที่เรียกกันอย่างยกย่องว่า ซุนจงซาน ณ เมืองจงซาน ปัจจุบันจัดเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงชีวประวัติของ ดร.ซุนยัดเซ็น และวัฒนธรรมของชาวบ้านซุ่ยเฮิง เสด็จฯ ไปยังเมืองจูไห่ (หรือมีฉายาว่าเมืองร้อยเกาะ) เพื่อทอดพระเนตรโรงงาน Asia Simulation & Control Engineering (Zhuhai) Corporation Limited (ASC) ซึ่งเป็นโรงงานสร้างแบบจำลองที่ใหญ่ที่สุดในจีน และมีส่วนทำให้จีนสร้างโรงงานปรมาณูได้ เสด็จฯ ไปยังท่าเรือจิ่วโจว ประทับเรือ Hydrofoil กลับฮ่องกง


     วันที่ ๑๐ (วันศุกร์ที่ ๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๔๐)
     เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรกิจการของมหาวิทยาลัยฮ่องกง หลังจากนั้น เสด็จฯ ไปยังท่าอากาศยานไคตั๊ก ประทับเครื่องบินพระที่นั่ง เสด็จฯ กลับสู่กรุงเทพมหานคร